กลับสู่หน้ารวมบทความสุขภาพ

ตรวจสุขภาพประจำปีตัวช่วยคะเน ความเสี่ยงโรค

อัปเดต Dec 14, 2023 | 17:07

175

การตรวจสุขภาพ หมายถึง การตรวจด้านสุขภาพของผู้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการแสดงของการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจนั้น โดยมุ่งเน้นการซักประวัติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำเฉพาะรายการที่มีข้อมูลหลักฐานที่บ่งชี้แล้วว่ามีประโยชน์คุ้มค่าแก่การตรวจ เพื่อค้นหาโรคและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่รับการตรวจ หรือให้การบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก

ทำไมจึงควรตรวจสุขภาพ การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้การตรวจสุขภาพไม่ได้เป็นการการันตีว่าคุณจะไม่มีโรค เพราะโรคต่างๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม การติดเชื้อ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล แต่การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม ช่วยให้ทราบถึงสภาพร่างกายและความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคซึมเศร้า และโรงมะเร็งอวัยวะต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและรักษาโรคในระยะเริ่มต้น อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีในการรับคำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในทุกด้าน เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายคนมักมองข้ามการตรวจสุขภาพ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ไม่มีอาการผิดปกติ กลัวผลการตรวจที่อาจเจอโรคต่างๆ ได้ หรือ ไม่ทราบว่าควรตรวจสิ่งใดบ้าง เป็นต้น จากสถิติพบว่าคนไทย มีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่เข้ารับการตรวจสุขภาพในแต่ละปี


ตรวจสุขภาพประจำปี สามารถตรวจโรคมะเร็งอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงของการเกิดโรคนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงของโรคต่างๆ มากขึ้น โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก โดยมีโรคมะเร็งบางชนิดที่พบบ่อยมากในประเทศไทย ซึ่งจะขอยกตัวอย่างโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย ดังนี้

1.     มะเร็งปาก และมะเร็งช่องปาก ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ แนะนำให้รับการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งปากและมะเร็งช่องปาก ปีละ 1 ครั้ง โดยการตรวจช่องปากโดยแพทย์หรือทันตแพทย์

2.     มะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ การป้องกันที่ดีที่สุด คือการค้นหาความผิดปกติของเต้านมให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและการรอดชีวิต ผลการรักษามะเร็งเต้านมในระยะแรกจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี สูงมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้แนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยการคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และในสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำรับการตรวจเต้านมโดยผู้เชี่ยวชาญปีละ 1 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการคลำเต้านม การเอกซเรย์เต้านม (แมมโมแกรม) และอัลตร้าซาวด์เต้านม 

3.     มะเร็งปากมดลูก เนื่องจากสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) ชนิดก่อมะเร็ง (oncogenic) หรือชนิดความเสี่ยงสูง (high-risk) ที่ปากมดลูก นอกจากการตรวจ Pap smear ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุก 3 ปี ถึงอายุ 65 ปีแล้ว จึงแนะนำวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็งที่เรียกว่า HPV DNA testing มาใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติมจากวิธี Pap smear โดยแนะนำให้ทำ HPV DNA testing ทุก 5 ปี ตั้งแต่อายุ 30 - 65 ปี

4.     มะเร็งปอด สาเหตุของการเกิดส่วนใหญ่มักมาจากการสูบบุหรี่ หรือในกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับควันพิษ โดยมะเร็งปอดมักไม่มีสัญญาณเตือน ไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น แต่จะมีอาการก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว แนะนำการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) ปีละ 1 ครั้ง

5.     มะเร็งตับ มะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma (HCC) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 1 ในผู้ชายและอันดับ 2 ในผู้หญิง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับแข็ง ดื่มแอลกอฮอล์ และที่เป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก คือ จากไวรัสตับอักเสบทั้งชนิดบีและซี โรคมะเร็งตับมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว การตรวจร่างกายเป็นประจำโดยการตรวจเลือดเพื่อหาค่าบ่งชี้มะเร็งตับ การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูก้อนในตับ และการรับวัคซีนป้องกันตับอักเสบก็ถือเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง

6.     มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจคัดกรองได้จากการตรวจอุจจาระดูเลือดปน และการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องลำไส้ (Colonoscopy) สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น