การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา (Sports Injuries)
คือการเล่นกีฬาแล้วเกิดการกระทบกระทั่ง มีผู้อื่นมากระทำ หรือแม้แต่เสียหลักด้วยตัวเองแล้วเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันเสียไปหรือลดน้อยลง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
การบาดเจ็บจากการปะทะ (Contact Injury) เกิดจากกีฬาที่เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปหรือเล่นเป็นทีม มีการปะทะหรือการกระแทก ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บ
การบาดเจ็บที่เกิดจากตัวเอง (Non-contact Injury) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากตัวเอง มีการขยับผิดจังหวะ จนทำให้บาดเจ็บหรือมีการฉีกขาด
อาการบาดเจ็บจากการกีฬา ที่พบบ่อย
- การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ (Strain)
- การบาดเจ็บของเอ็น ข้อต่อ (Sprain)
- การบาดเจ็บที่เข่า (Knee Injury) ซึ่งมีข้อต่อ และเอ็นเป็นส่วนใหญ่
- กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ (Runner’s Knee)
- การบาดเจ็บที่หลัง (Back injury)
- กล้ามเนื้อบวม (Swollen Muscle)
- เอ็นร้อยหวายขาด (Achilles Tendon Rupture)
- กระดูกหัก (Fractures)
- ข้อต่อเคลื่อน ผิดตำแหน่ง (Dislocation)
- เส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Injury)
การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
เริ่มจากการประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ เช่น มีบวมหรือกดเจ็บ มีอาการปวดขณะเคลื่อนหรือขยับหรือไม่ หลังจากนั้นจึงทำการปฐมพยาบาล โดยใช้แนวปฏิบัติ “PRICE” ดังนี้
P= Protect การป้องกัน ด้วยเครื่องป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก สนับเข่า สนับศอก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการกระแทก หรือทำให้ผลกระทบจากแรงกระแทกลดลง ช่วยป้องกันการบาดเจ็บ
R = Rest การพัก หยุดใช้งานส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บทันที โดยเฉพาะช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ และควรพักร่างกาย ประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง
I = Ice การประคบเย็น เพื่อลดการมีเลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อ ลดบวม และอาการปวด ไม่ให้เส้นเลือดขยายตัว โดยทั่วไปควรประคบเย็นครั้งละ 10-20 นาที หยุดประคบ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่บวม หรือทำวันละ 2 – 3 ครั้ง โดยต้องมีผ้าห่อไว้ไม่ให้ถุงเย็นสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง หากไม่มีถุงเย็นหรือบริเวณของการบาดเจ็บกว้างเกินขนาดของถุงเย็น สามารถใช้ถุงใส่น้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็น นอกจากนี้ยังมีการพ่นด้วยสเปรย์เย็น (cooling spray) อาจใช้ลดปวดเฉพาะที่ได้ชั่วคราว
C = Compression การพันผ้ายืด เพื่อกดไม่ให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อมาก การพันผ้ายืดควรพันให้กระชับส่วนที่บาดเจ็บ และควรใช้ผ้าสำลีผืนใหญ่รองไว้ให้หนาๆ ก่อนพันด้วยผ้ายืด ควรพันผ้ายืดคลุมเหนือและใต้ต่อส่วนที่บาดเจ็บ ซึ่งมักใช้ร่วมกับการประคบเย็น
E = Elevation การยกส่วนของร่างกาย ที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก อีกทั้งยังช่วยในการลดการกดของน้ำนอกเซลล์ที่หลั่งออกมาสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นทำให้ลดการบวมลงได้ โดยการนอนวางขาหรือเท้าบนหมอน หรือนั่งโดยวางเท้าบนเก้าอี้ หากบาดเจ็บรุนแรงควรยกสูงไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์
- เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
- อาการบาดเจ็บเรื้อรัง ปวดบวมเป็นเวลานานจนรบกวนการใช้ชีวิต
- มีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว
- การป้องกัน การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
- เลือกอุปกรณ์ที่เหมาะกับกีฬา เช่น รองเท้า
- ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก สนับศอกและสนับเข่า
- ก่อนเล่นกีฬาควรวอร์มอัพร่างกายให้พร้อม และคูลดาวน์ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพลงสู่ภาวะปกติ
- ฝึกซ้อม อย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- เสริมวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นแก่ร่างกาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาต่างๆ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นนักกีฬาควรใส่ใจป้องกันภาวะบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากผู้ร่วมเล่นและอุบัติเหตุจากตนเอง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดการบาดเจ็บควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลผู้บาดเจ็บจากการกีฬา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ยิ่งทำให้อาการเรื้อรัง ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยแนะนำวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้คุณกลับมาสู่สภาวะปกติหรือทำให้คุณแกร่งมากขึ้นกว่าที่เคย