กลับสู่หน้ารวมบทความสุขภาพ

ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (แต่ไม่ใช่ประจำเดือน)

อัปเดต Mar 09, 2023 | 22:52

177

เลือดออกทางช่องคลอด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

  • เลือดออกทางช่องคลอดปกติ (Normal Vaginal Bleeding) หรือประจำเดือน ซึ่งแต่ละรอบเดือนรังไข่จะผลิตไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ กรณีไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เยื่อบุมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับตัวอ่อนจะสลายออกมาเป็นประจำเดือน ทั้งนี้ ระยะเวลาของรอบเดือนจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน  
  • เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (Abnormal Vaginal Bleeding) เลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือน เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ เลือดออกหลังเข้าวัยทอง เลือดออกทางช่องคลอดก่อนอายุ 9 ปี เป็นต้น ซึ่งการที่เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติมีสาเหตุได้หลากหลาย  

อาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

การมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ อาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่หากพบเลือดออกทางช่องคลอดร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษา 

  • เลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก หรือนานกว่า 1 สัปดาห์ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 ชั่วโมง 
  • ปวดบริเวณท้องน้อย หรือ ปวดอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง 
  • วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม 
  • มีไข้ 
  • อาการที่แย่ลงหรือเกิดบ่อยขึ้น 
  • ภาวะซีดผิดปกติ 

สาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

  • การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน เช่น ยาเม็ด แผ่นแปะ การฉีด อาจสังเกตเห็นได้ในช่วง 3 เดือนแรกของการใช้ เนื่องจากฮอร์โมนส่วนเกินอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงมดลูก
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น หนองในเทียม 
  • การติดเชื้อที่ปากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก 
  • ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด  
  • ภาวะสุขภาพอื่นๆ เช่น พร่องไทรอยด์ โรคตับ หรือโรคไตเรื้อรัง 
  • เนื้องอกหรือติ่งเนื้อ เหล่านี้เป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็งที่เติบโตในเยื่อบุหรือกล้ามเนื้อของมดลูก 
  • กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome PCOS) เกิดจากรังไข่ขยายใหญ่ขึ้นด้วยถุงน้ำที่ล้อมรอบไข่ 
  • ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชาย หรือแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไป บางครั้งอาจทำให้ไม่มีประจำเดือน 
  • มะเร็งของระบบสืบพันธุ์ รวมถึงมะเร็งมดลูก พบได้บ่อยในผู้หญิงที่ผ่านวัยหมดประจำเดือนแล้ว 
  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด  การแท้งบุตร  
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกายหักโหมเกินไป การสอดสิ่งของแปลกปลอมเข้าไปภายในช่องคลอด น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลงผิดปกติ หรือมีแผลฉีกขาดในช่องคลอด เป็นต้น 

การตรวจวินิจฉัยภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

หากพบเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะซักประวัติ ถามข้อมูลเกี่ยวกับรอบเดือน รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้ 

  • ตรวจอุ้งเชิงกราน หรือการตรวจภายใน เพื่อตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกและรังไข่  
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเก็บตัวอย่างจากปากมดลูก นำไปตรวจหาการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมะเร็งปากมดลูก 
  • ตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อหาภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือการแท้งบุตร  
  • ตรวจเม็ดเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด กรณีเลือดออกมากจนเกิดภาวะโลหิตจาง 
  • ตรวจเลือด เพื่อดูความผิดปกติของการทำงานต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ตับ ไต และฮอร์โมนเพศ 

การรักษาภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

การรักษาภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ดังนี้ 

  • ปรับฮอร์โมนให้สมดุล ด้วยการรับประทานหรือฉีดยา การณีผู้ป่วยเนื่องจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล   
  • หากตรวจพบเนื้องอกในมดลูก อาจต้องผ่าตัดเอามดลูกออก เพื่อควบคุมเลือดไหลออกทางช่องคลอด 
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการติดเชื้อ  
  • การขูดมดลูก กรณีรักษาด้วยยาไม่ได้ผล เพื่อควบคุมเลือดออกมากเกินไปและตรวจหาความผิดปกติของเยื่อบุมดลูกเพิ่มเติม   
  • หากแพทย์วินิจฉัยไม่พบสาเหตุอย่างแน่ชัด ผู้ป่วยจะได้รับยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยปรับรอบเดือนและลดภาวะเลือดออก   

การรักษาโรคมะเร็งระบบสืบพันธ์

หากตรวจพบว่าสาเหตุเลือดออกจากช่องคลอด เกิดจากโรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ และโรคมะเร็งช่องคลอด แพทย์จะพิจาณาการรักษา ดังนี้ 

  • การผ่าตัด ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ผ่าตัดเพียงส่วนที่พบเซลล์มะเร็ง หรือผ่าตัดกำจัดอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ มดลูก ช่องคลอดทั้งหมด หากเซลล์มะเร็งมีการลุกลาม หรือมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ 
  • การฉายรังสี เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม หรือมีความเสี่ยงการเกิดเซลล์มะเร็งอีกครั้ง ส่วนใหญ่ใช้ควบคู่กับการรักษาแบบเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด 
  • เคมีบำบัด โดยให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ หรือให้ยาชนิดรับประทาน ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำเคมีบำบัดควบคู่กับการฉายรังสี  
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด  ช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคมะเร็ง เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล 
  • การบำบัดด้วยยาแบบมุ่งเป้า  คือการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และอาจเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการทำเคมีบำบัด  

ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติบางรายอาจหายได้เอง แต่การมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันอาการกำเริบและรุนแรงจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในที่สุด