เมื่อพูดถึงคำว่า CODA (โคด้า) หลายคนนึกถึงภาพยนตร์ชื่อเดียวกันนี้ที่การันตีคุณภาพด้วยรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ประจำปี 2022
โดยความหมายแล้ว CODA หรือ Child Of Deaf Adult(s) หมายถึง ลูกของพ่อแม่ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด
ดังนั้น ลูก ๆ ของครอบครัวคนหูหนวกจึงมักต้องรับบทบาทเป็นนักแปลภาษามือให้พ่อแม่ (อาจจะรวมถึงพี่น้อง) มาตั้งแต่เด็ก ความรับผิดชอบของเยาวชน CODA จึงมากกว่าเด็กในวัยเดียวกันไปโดยปริยาย
ภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ เองก็เช่นกันที่นำเสนอเรื่องราวของชาว CODA ผ่านชีวิตของ ‘ใบบัว’ เด็กหญิงวัยมัธยมที่มีพ่อกับแม่เป็นคนหูหนวก และ ‘ใบบอน’ น้องสาวที่เริ่มมีอาการหูหนวก โดยหลังการเสียชีวิตของแม่ ทำให้พ่อของใบบัวซึ่งประกอบอาชีพนักวาดภาพอิสระเริ่มมีสภาวะซึมเศร้าจนส่งผลต่อการทำงาน หน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบทั้งพ่อและน้องสาวจึงแบกอยู่บนบ่าของวัยรุ่นอย่างใบบัว ที่ชีวิตของตัวเองก็ดำเนินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยเช่นกัน
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
ภาพยนตร์ขนาดกลางที่ได้รับทุนในการสร้างจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกำกับโดย พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับหนังสั้นสารคดีที่ได้รับรางวัลมากมายความน่าสนใจของเรื่องนี้ ไม่เพียงฉายให้เห็นถึงวิถีชีวิตประจำวันของครอบครัว CODA ให้เราเข้าใจพวกเขามากขึ้น หากยังเลือกตั้งคำถามถึงแง่มุมอื่น ทั้งภาวะซึมเศร้าที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคนหูหนวก โดยที่พวกเขาไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ แม้แต่น้อย
รวมถึงแง่มุมทางการแพทย์ที่เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า เมื่อคนหูหนวกป่วย เขาจะสามารถบอกเล่าอาการเจ็บไข้ของตัวเองเพื่อนำไปสู่การรักษาได้มากน้อยแค่ไหน
พัฒนะ จิรวงศ์
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่คนหูดีมิอาจเข้าถึงและเข้าใจโลกของคนหูหนวก หากไม่ได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อหลากหลายแขนง LIVE TO LIFE จึงชวนผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนหูหนวก ที่จะช่วยขยายมุมมองระหว่างเขาและเราให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
“เราเคยร่วมงานกับล่ามภาษามือ และเคยทำภาพยนต์กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มาก่อน โดยครั้งที่แล้วเป็นการทำซีรีส์สั้น ๆ 10 ตอน ว่าด้วยการทำสื่อเพื่อให้คนหูหนวกรู้เท่าทันสื่อ พอมาในครั้งนี้ ก็เกิดการพูดคุยกันกับคุณนับดาว องค์อภิชาติ ประธานชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง ถึงประเด็น CODA และอยากทำหนังอีกสักเรื่อง เลยเขียนโครงการเพื่อขอทุนโดยเริ่มจากหัวข้อตั้งต้นว่า ภาพยนตร์ขนาดกลางเรื่องราวของคนหูหนวกถ่ายทอดผ่านลูกที่เป็นคนหูดี จากนั้นเราก็มาหาข้อมูลเพื่อเขียนบทภาพยนตร์ว่าจะเล่าเรื่องอะไร”
ภาพเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“จากการค้นคว้าข้อมูลจนได้เจอกับน้องคนนึงที่เป็น CODA เขาสามารถสื่อสารภาษามือได้ โดยความตั้งใจของเขาไม่ได้อยากเป็นแค่ล่ามภาษามือ แต่อยากเรียนทางด้านนิติศาสตร์เพื่อช่วยเหลือคนหูหนวกในด้านอื่น ๆ เพราะหนึ่งในปัญหาที่คนหูหนวกมักเจอเวลาไปโรงพักหรือขึ้นศาลคือ ไม่สามาถสื่อสารหรืออธิบายให้คนหูดีเข้าใจได้ ทำให้ต้องยอมเซ็นเอกสารต่าง ๆ โดยไม่มีทางเลือก น้องคนนี้เลยอยากเป็นทนายเพื่อคนหูหนวก อย่างน้อยก็เพื่อสื่อสารกับผู้พิพากษาได้ชัดเจนขึ้น เราเลยชอบไอเดียในการเอาความได้เปรียบของการเป็น CODA ที่สามารถใช้ภาษามือเป็นพื้นฐานได้อยู่แล้ว ไปเรียนรู้วิชาชีพอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือชุมชนคนหูหนวก”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
โรคซึมเศร้าในโลกของคนหูหนวก
“เหตุผลที่เลือกบอกเล่าเรื่องโรคซึมเศร้าแทรกเข้าไปด้วย เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับคนหูหนวกมาก่อน เรารู้สึกว่าพวกเขาใช้พลังงานเยอะมากในการสื่อสาร ต้องใช้ทั้งสีหน้าประกอบกับท่าทาง พอลองมานึกถึงเพื่อนของเราเองบางคนที่ Energy เยอะ ๆ แบบนี้ หลายคนมีภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ยิ่งเป็นคนหูหนวก เขาก็ยิ่งสื่อสารกับคนอื่นได้น้อย ยิ่งจมอยู่กับตัวเอง เลยคิดว่าสังคมเราอาจจะมีคนหูหนวกที่เป็นซึมเศร้าอยู่เยอะก็ได้”
“ที่จริงแล้วคนหูหนวกไม่เข้าใจนิยามของคำว่าซึมเศร้า เพราะภาษามือสื่อสารได้แค่รูปธรรม อะไรที่เป็นนามธรรมจะเข้าใจยากมาก คนหูดีเข้าใจนิยามของภาวะซึมเศร้าจากการสื่อสารและอธิบายความ แต่สำหรับคนหูหนวกแล้ว เมื่อซึมเศร้าถูกแปลเป็นภาษามือ อาจมีความหมายแค่อาการซึม เศร้าโศก หรือร้องไห้เสียใจ”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“เมื่อไปหาข้อมูลต่อกับจิตแพทย์เกี่ยวกับวิธีสื่อสารกับคนไข้หูหนวก มีคุณหมอท่านนึงบอกว่า หนึ่งในปัญหาที่พบ คือ เรื่องของการใช้ล่าม หากเป็นเคสที่เกิดปัญหาในครอบครัว เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะพาคนในครอบครัวที่มีปัญหาอยู่ไปหาจิตแพทย์เพื่อเล่าเรื่องราวในใจ หรือถ้าจะใช้ล่ามภาษามือ บางทีเป็นเรื่องส่วนตัว คนไข้ก็พูดออกมาไม่หมด ยังไม่นับว่าล่ามภาษามือในเมืองไทยมีน้อยมาก ประเด็นนี้จึงยิ่งน่าสนใจ”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“การสอดแทรกรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนหูหนวกเข้าไปในหนัง เป็นประเด็นที่ตั้งใจสื่อสารให้คนในวงกว้างได้รับรู้ เช่น สิทธิในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมฟรีในเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี แต่ก็มีอีกหลายประเด็กที่ไม่ได้เล่าไปในหนัง”
“เช่น คนหูหนวกไม่ชอบถูกเรียกว่า คนใบ้ เขายินดีให้เรียกว่าคนหูหนวกกับคนหูดี เพราะไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงปมด้อย ส่วนเหตุผลที่ไม่ชอบคำว่าใบ้ เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นใบ้ เวลาหัวเราะหรือร้องไห้เขายังมีเสียงออกมาตามปกติ เขาแค่เปล่งเสียงออกมาเป็นคำไม่ได้ เพราะความสามารถในการพูดต้องสัมพันธ์กับการได้ยิน อีกทั้งคำว่า ‘ใบ้’ มีโอกาสที่จะเป็นคำเหยียด เพราะในบริบทความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่ ใบ้มักจะมาคู่กับโง่ ดังนั้น เขามีเสียงและเขาไม่ได้โง่ จึงพอใจกับการถูกเรียกว่า ‘คนหูหนวก’ มากกว่า”
ภาพเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“ทางทีมเลือกคนหูหนวกมาแสดงจริง ๆ (พ่อและแม่ รับบทโดย ชิษณุพงศ์ วงศ์ชูชัยสถิต และฐนิตฐา ยิบพิกุล) เพื่อโชว์ศักยภาพของคนหูหนวก ส่วนใบบัวกับใบบอนเองก็เป็นพี่น้องกันจริง ๆ (รับบทโดย ธีร์จุฑา และทีปกา ชัยวัฒนกุลวานิช) และรู้จักการใช้ภาษามือ เพราะคุณแม่ของพวกเขาเป็น CODA เด็กทั้งคู่จึงเรียนรู้การใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารกับคุณยาย”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“ในเรื่องใบบัวเป็นเด็กเข้มแข็ง มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ต้องดูแลทั้งพ่อและน้องสาว รวมทั้งจัดการงานบ้านด้วยและมีความรับผิดชอบต่อตัวเองที่ดีมาก ซึ่งเอา Character มาจากลักษณะส่วนใหญ่ของเด็กที่เป็น CODA ที่ล่ามแชร์ให้ฟัง เพราะพวกเขาต้องเป็นปากเป็นเสียงแทนพ่อแม่มาแต่ไหนแต่ไร จึงเป็นการทำด้วยใจโดยที่อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าถูกริดรอนด้วยซ้ำ ประเด็นนี้อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาได้เหมือนกันว่า หากภาครัฐจะมีแนวนโยบายในการช่วยแบ่งเบาภาระของ CODA เด็ก ๆ เหล่านี้จะได้ไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมายขนาดนี้”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“การใช้ศิลปะบำบัดในหนัง ก็มาจากประสบการณ์ของจิตแพทย์เองที่แชร์ว่า หากเจอเคสคนไข้หูหนวกมารับการรักษาก็จะให้วาดรูป หรือเต็มที่ก็ให้เขียนข้อความเพื่อสื่อสาร ซึ่งเอาเข้าจริงไม่สามารถเข้าใจกันได้มากพอ”
“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหากเป็นไปได้ คือ ควรมีหลักสูตรสอนภาษามือขั้นพื้นฐานให้กับหมอหรือจิตแพทย์ได้เรียนรู้ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ จากประสบการณ์ที่ไปถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงพยาบาลศิริราช และเห็นว่ามีห้องฝึกทำ CPR ปั๊มหัวใจ เพราะหมอทุกคนไม่ได้ทำ CPR เป็น ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจึงมีห้องนี้ไว้ให้หมอที่สนใจได้ฝึกหัดปั๊มหัวใจ ผมเลยคิดว่าน่าจะมีหมอหรือจิตแพทย์ที่เคยเจอเคสคนไข้หูหนวก และอยากเรียนรู้ภาษามือเพื่อสื่อสารกับเขาได้โดยตรง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ค้อน กรรไกร กระดาษ
“หนังเรื่องนี้จึงตั้งใจเจาะไปถึงกลุ่มคนที่แก้ปัญหาเกี่ยวกับคนพิการโดยตรง หรือหากคนหูดีได้ดู ‘ค้อน กรรไกร กระดาษ’ ก็จะได้เข้าใจคนหูหนวกมากขึ้น โดยเฉพาะหากได้รับการพูดถึงและบอกต่อในกลุ่มจิตแพทย์โดยตรง ก็น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น”