ปัจจุบันนี้มะเร็งเต้านมยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดในผู้หญิง กล่าวคือพบเป็นอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งในผู้หญิง และยังคงมีอัตราเสียชีวิตสูงมาก ทั้งที่การดำเนินโรคนั้นสามารถรักษาได้อย่างหายขาดเมื่อพบในระยะแรก ๆ สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งเต้านมมักตรวจเจอในระยะหลัง ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุก ๆ คน ควรให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอยู่เสมอ
แพทย์หญิงแพรวพรรณ ทองทับ รังสีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยขั้นสูงด้านเต้านมและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่เจอความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง ด้วยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ส่วนอาการที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่ง คือการพบเจอก้อนที่เต้านม ซึ่งหากเป็นก้อนที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง จะนำไปสู่การเจาะชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรคในลำดับต่อไป
การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อดูว่าก้อนที่เต้านมมีหน้าตาหรือรูปร่างอย่างไร มีโอกาสที่จะเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาหรือเนื้อร้ายมากน้อยแค่ไหน โดยรังสีแพทย์จะประเมินค่าออกมาเป็นคะแนนที่เรียกว่า BI-RADS คะแนนนี้จะบ่งบอกความน่าจะเป็นในการเป็นมะเร็ง ซึ่งมีค่าตั้งแต่ BIRADS 1 – BIRADS 5 มีความหมายดังนี้
หากตรวจคัดกรองแล้ว เจอความผิดปกติที่มีคะแนนตั้งแต่ BI-RADS 4 ถึง BI-RADS 5 แพทย์จะแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อเพื่อให้ทราบผลการวินิจฉัยที่แน่ชัด โดยการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อ ในวันที่เจาะไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจ แต่หากผู้ป่วยทานยาในกลุ่มที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด มีความจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาให้ทราบ และจำเป็นต้องหยุดยาก่อนเจาะชิ้นเนื้อประมาณ 5-7 วัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเลือดหยุดยากระหว่างทำหัตถการ
การเจาะชิ้นเนื้อเต้านมทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยเริ่มแรกแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณที่พบก้อนเนื้อ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยในขณะฉีดยาชาเท่านั้น โดยระหว่างการเจาะชิ้นเนื้อผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเลย แต่จะได้ยินเสียงของเข็มเจาะชิ้นเนื้อระหว่างการเจาะ
ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีการเจาะชิ้นเนื้อในปัจจุบันที่สามารถเจาะและดูก้อนเนื้อผ่านการอัลตราซาวนด์หรือแมมโมแกรมทำให้การเจาะชิ้นเนื้อเป็นไปอย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น แม้ว่าก้อนเนื้อนั้นจะคลำไม่ได้ หรือมีขนาดที่เล็กกว่าหนึ่งเซนติเมตร นอกจากนี้ ยังมีความปลอดภัยสูง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในขั้นตอนการรักษาทั้งหมด โดยผู้ป่วยจะมีเพียงแผลขนาดเล็กเท่ารูเข็มที่ผิวหนังเท่านั้น หลังจากทำหัตถการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับได้เลย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยจะได้รับการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ในระหว่าง 3 วัน ให้ผู้ป่วยดูแลแผลไม่ให้โดนน้ำและไม่ยกของหนัก หรือออกกำลังกาย เช่น เหวี่ยงแขนแรง ๆ นอกจากนั้นแล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถ้าหากมีอาการปวดสามารถทานยาพาราเซตตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้
อย่างไรก็ตาม การเจาะชิ้นเนื้อที่โรงพยาบาลเวชธานี การส่งตรวจผลชิ้นเนื้อด่วนจะใช้เวลาประมาณ 1 วันเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยสบายใจไม่ต้องกังวลกับการรอผลการตรวจนาน ส่วนผลชิ้นเนื้อปกติใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์