วิธีบอกลา อาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ถือเป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ สาเหตุและอาการของออฟฟิศซินโดรมอาการออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการทำงานในปัจจุบันที่ต้องนั่งทำงานที่โต๊ะ โดยใช้คอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง การก้มคอ การยกบ่า ไหล่ การใช้มือจับเมาท์ รวมถึงการใช้สายตาเพ่งมองที่มีระยะเวลายาวนานต่อเนื่องหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อย ทั้งยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และอวัยวะต่างๆ โดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อย และมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่มากกว่าปกติ ซึ่งอาการมักแสดงออกในบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ สะบัก และหลัง
การรักษาออฟฟิศซินโดรม ด้วยการทำกายภาพบำบัด
อาการออฟฟิศซินโดรม สามารถรักษาและบรรเทาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด ทั้งนี้ก่อนเริ่มกระบวนการรักษาฟื้นฟูนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัยให้ทราบสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งแพทย์จะวางแผนการรักษาให้อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการดูแล และจะมีการประเมินสุขภาพ รวมถึงพัฒนาการทางการรักษาโดยนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิด
ในกระบวนการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม จะมุ่งเน้นไปที่การลดอาการปวดเมื่อย การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สิ่งสำคัญที่ได้จากการรักษา คือผู้ป่วยจะได้วางแผนการดูแลสุขภาพที่ถูกวิธี และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ กระบวนการทำกายภาพบำบัดนั้นส่วนใหญ่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษา เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีและยั่งยืน ซึ่งในแต่ละการรักษาหรือการบำบัดฟื้นฟูนั้น จะมีการใช้วิธีและเครื่องมือที่แตกต่างกันไป เช่น
อัลตราซาวด์บำบัด (Therapeutic Ultrasound)
เป็นการรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ให้ความร้อนลึก ใช้ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก และช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
การรักษาด้วยแผ่นประคบร้อน (Hot pack)
เป็นรูปแบบการรักษาผ่านการนำความร้อนของแผ่นประคบร้อน (Hot pack) ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดภายใต้ผิวหนัง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
การนวดด้วยเทคนิคทางกายภาพบำบัด (Manual therapy)
เป็นการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย ประกอบด้วย massage และ mobilization การออกกำลังกายและการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) โดยนักกายภาพบำบัดการยืดกล้ามเนื้อ (stretching) เพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะช่วยลดปวด และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวข้อต่อ
ทั้งนี้ เมื่อมีอาการปวด เมื่อย เกร็งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน เราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา จะทำให้อาการหรือโรคลุกลามบานปลายจนรักษายากขึ้น หรือบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้