‘ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ นี่คือสัจธรรมที่จริงแท้และเที่ยงตรงที่สุด
ถ้าเลือกได้ทุกคนคงอยากมีสุขภาพดีและแข็งแรงไปตลอดชีวิต แต่ในความเป็นจริง สุขภาพดีกลับเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความทุ่มเทและความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้มาครอบครอง
ด้วยเงื่อนไขของร่างกาย การใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ และค่านิยมสังคมที่เน้นให้ความสำคัญกับความสำเร็จด้านอื่น ๆ ทำให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเพียงเรื่องรองลงมาที่ใครหลายคนหลงลืมไปและไม่เคยให้ความสนใจ จนกระทั่งล้มป่วยเป็นโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยไม่ทันได้ตั้งตัว หากวันนั้นด่วนมาถึง คงเป็นเรื่องน่าเสียดายและเสียใจที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพให้ดีตั้งแต่แรก
เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของสุขภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาจริงจังกับการดูแลตัวเอง LIVE TO LIFE ได้ร่วมพูดคุยกับ แพทย์หญิงศศพินทุ์ วงษ์โกวิท หรือ หมอนุ้ย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารด้วยการผ่าตัด เจ้าของช่อง Doctor Nuiz ที่เผยแพร่คลิปความรู้สุขภาพและโรคมะเร็งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมอย่าง TikTok ซึ่งมียอดผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งล้านคน ถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีสุขภาพดี การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี และหนทางสู่ชีวิตที่ยืนยาว
เพราะสุขภาพดีเป็นเรื่องที่ปล่อยรอไม่ได้ ต้องรีบรู้และดูแลตัวเองก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข เพื่อจะได้มีเวลาใช้ชีวิตกับคนที่เรารัก และทำในสิ่งที่รักไปนาน ๆ อย่างที่ใจต้องการ เหมือนกับที่คุณหมอพูดย้ำอยู่ตลอดว่า ‘ไม่มีอะไรมีค่าและสำคัญมากไปกว่าสุขภาพดี’ และ ‘สุขภาพดีเริ่มได้ที่ตัวเรา’
Health is Wealth
‘สุขภาพดี’ ยิ่งกว่ามีชัย
เพราะเป็นความมั่งคั่งที่ทำให้ชีวิตยืนยาว
เชื่อว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า ‘ไม่ป่วย = สุขภาพดี’ ความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่
“ไม่ป่วยกับสุขภาพดีเป็นคนละเรื่องกัน อย่างบางคนที่ยังไม่ป่วย หรือยังไม่มีอาการผิดปกติ มาวัดความดันแล้วได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท นี่คือภาวะก่อนเป็นความดันโลหิตสูง คือไม่ปกติแล้ว เป็นอาการซ่อนเร้นที่รอเวลาแสดงความผิดปกติออกมา ดังนั้น ความเข้าใจที่บอกว่า ไม่ป่วยเท่ากับสุขภาพดี จึงไม่ถูกต้อง เพราะต่อให้ยังไม่ป่วย ก็ไม่นับว่ามีสุขภาพดี”
“จากประสบการณ์ของหมอที่ตรวจร่างกายคนไข้มาเยอะ ถ้าดูแค่ภายนอก คนไข้หลายคนก็ดูปกติดี ไม่เห็นจะมีอาการอะไรน่าเป็นห่วง แต่พอตรวจอย่างละเอียดแล้วกลับเจอภาวะไขมันพอกตับ หากปล่อยทิ้งไว้จะพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้ นี่คือตัวอย่างของอาการซ่อนเร้นในร่างกายที่เราทุกคนไม่มีทางรู้ได้เองว่า ส่วนไหนของอวัยวะเกิดการอักเสบหรือกำลังผิดปกติ ถ้าไม่ได้ตรวจร่างกายอย่างละเอียด”
ในมุมมองของคุณหมอ คนที่มี ‘สุขภาพดี’ ควรจะต้องเป็นอย่างไร
“ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรมาอธิบายคำว่าสุขภาพดี แต่โดยทั่วไปจะหมายถึงคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพและร่างกาย รวมถึงต้องมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข”
“ถ้าลงรายละเอียด ก็อาจแบ่งความหมายของสุขภาพดีออกเป็น 4 ด้าน ด้านแรก คือ สุขภาพทางกาย ร่างกายต้องแข็งแรง ทุกระบบภายในและอวัยวะทำงานสอดคล้องกันดีเป็นปกติ ด้านที่สอง คือ สุขภาพทางใจ ต้องมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง กระตือรือร้น ควบคุมอารมณ์เป็น มองโลกแง่ดี มีวุฒิภาวะและมีสมาธิ ด้านที่สาม คือ สุขภาพทางสังคม ต้องเข้าสังคมเป็นและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ มีความเข้าอกเข้าใจผู้อ่านในระดับที่พอเหมาะพอควร และด้านสุดท้าย คือ สุขภาพทางปัญญา ต้องมีความรู้และรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รู้ว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี สิ่งไหนควรทำสิ่งไหนควรเลี่ยง คิดและตัดสินใจด้วยเหตุผล เห็นความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพและเลือกทำในสิ่งที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง”
ถ้ามองภาพกว้างทั้งในสังคมโลกและสังคมไทย จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการระบาดของโรค มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และสังคมสูงอายุ จนกลายเป็นกระแส ‘Health is Wealth’ ที่มองว่าสุขภาพเป็นความมั่งคั่งหรือสมบัติล้ำค่าของชีวิต คุณหมอคิดเห็นอย่างไรกับการตื่นตัวของผู้คนในเรื่องนี้
“ดีใจมากที่คนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เพราะส่งผลดีกับตัวเราเองโดยตรง แต่สุขภาพไม่ใช่เทรนด์และไม่เคยเป็นเทรนด์ หมออยากให้มองเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญตลอดชีวิต”
“อย่างหมอเองชอบประวัติศาสตร์ ถ้าย้อนกลับไปดูการแพทย์สมัยโบราณ คนในอดีตเขาถือว่าสุขภาพเป็นสมบัติของชีวิตมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว มีบันทึกไว้ว่าในยุคสามก๊ก มีหมอคนหนึ่งชื่อ ฮัวถวอ เขาเก่งมาก ทุกวันเอาแต่หาความรู้และรักษาคนป่วยโดยไม่ได้สนใจลาภยศหรือสิ่งตอบแทน จนวันหนึ่งโจโฉรู้เข้า ก็เลยอยากให้มาเป็นหมอประจำตัว แต่เขาปฏิเสธ โจโฉโกรธมากที่หมอขัดใจจึงสั่งขังคุกจนเสียชีวิต”
“แม้ตัวตายแต่สิ่งมีค่าที่เขาทิ้งเอาไว้คือตำราความรู้มากมายเกี่ยวกับการผ่าตัดและการดูแลสุขภาพ อย่างเช่น วิธีบริหารร่างกายเลียนแบบสัตว์ป่า เป็นท่าออกกำลังกายที่ดัดแปลงมาจากท่าทางการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้ง 5 ชนิด คือ เสือ กวาง หมี แมว และนก ภายหลังกลายเป็นตำราล้ำค่าสมัยโบราณให้หมอรุ่นต่อมาได้ศึกษาต่อยอดความรู้ และให้คนทั่วไปเอาไปใช้เป็นหลักดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืน จนต่อมาเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอคนสำคัญที่บุกเบิกความรู้ด้านการผ่าตัด”
“เห็นไหมว่า แนวคิดสุขภาพดีเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิตมีมาแต่โบราณจนถึงตอนนี้และจะอยู่เรื่อยไปถึงอนาคตตราบที่ยังมีมนุษย์ เพราะคนเราเกิดมามีชีวิตเดียวและมีเวลาจำกัด ไม่มีใครอยู่เป็นอมตะได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าและมีคุณค่ามากที่สุดคือ การมีเราสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ”
แล้วสุขภาพกายที่ดีทำให้ชีวิตมีความสุขทางใจได้อย่างไร เพราะมีสำนวนโบราณภาษาละติน Mens Sana In Corpore Sano ที่บอกว่า จิตแจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง (A Healthy Mind in a Healthy Body)
“ร่างกายแข็งแรง จิตใจก็จะสดชื่นแจ่มใสและมีความสุข แต่ถ้าร่างกายป่วยเรื้อรัง อย่างผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องมาฉายแสงและให้คีโมเป็นประจำ หมอเห็นชัดเจนเลยว่าเขาไม่สดชื่น ไม่แจ่มใส มีความกังวลทุกอย่าง ทั้งจากการดูสีหน้าและสังเกตเวลาพูดคุยขณะตรวจ แสดงออกถึงความกลัวและความกังวล เป็นความรู้สึกห่อเหี่ยวใจไปตามสุขภาพที่ไม่ดี”
“เมื่อสุขภาพไม่ดีเป็นต้นเหตุที่ทำให้เครียดและเป็นกังวล ความเครียดที่เกิดขึ้น จะส่งผลย้อนกลับไปยังร่างกาย คนป่วยหลายคนจึงกินไม่ค่อยได้ ถึงกินได้อาหารก็ไม่ค่อยย่อย นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลงไปอีก เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจทำงานร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว คนที่ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีจึงมักจะมีอารมณ์เบิกบานและมีความสุขตามไปด้วย เพราะไม่มีปัญหาสุขภาพมารบกวนใจหรือทำให้รู้สึกไม่ดี”
ในฐานะหมอ ยังมีแง่มุมไหนที่ควรชี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนใกล้ชิด แต่คนส่วนใหญ่อาจมองข้ามไปหรือไม่ได้ตระหนักถึง
“หมอมองว่าราคาของการสร้างเสริมสุขภาพดีที่ป้องกันร่างกายของเราไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมถูกกว่าราคาของการรักษาสุขภาพที่ย่ำแย่ไปแล้วให้กลับมาหายดีอีกครั้ง”
“แล้วการส่งเสริมสุขภาพที่ดีก็เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจที่หาได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ ต่างกับการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายมากมายขึ้นอยู่ความรุนแรงของโรค บางคนอาจบอกว่ามีประกันสุขภาพจ่ายให้แทนแล้ว แต่อย่าลืมว่ายังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ อย่างค่าเดินทางมาหาหมอ บางคนต้องลางานครึ่งค่อนวัน นี่คือราคาที่ต้องจ่ายเป็นเวลาในชีวิต ทั้งที่แต่ละคนมีอยู่อย่างจำกัด ควรเอาไปใช้ทำอย่างอื่นมากกว่ามาเสียกับการรักษาโรค”
คุณหมอรู้สึกอย่างไร เวลาตัวเองเกิดล้มป่วยหรือไม่สบายขึ้นมา
“คนเป็นหมอคิดเหมือนกันหมดว่า ก่อนดูแลคนไข้ เราต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรงเสมอ”
“จากประสบการณ์ตรง หมอเคยอดหลับอดนอนทำงานจนภูมิแพ้กำเริบเพราะภูมิคุ้มกันร่างกายตก จำได้ว่าเลือดกำเดาไหลไม่หยุดขณะตรวจคนไข้ เหตุการณ์วันนั้นเลยเป็นบทเรียนให้หมอเตือนตัวเองมาตลอดว่า เราต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้พร้อม ถ้ายังดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ แล้วจะไปดูแลคนอื่นได้ยังไง ตั้งแต่นั้นมา หมอเริ่มดูแลตัวเองทุกอย่าง เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนด้วยความรู้ที่ถูกต้อง”
Live Healthy Always
ดูแลถูกวิธีสุขภาพดีตลอดไป
หนทางที่ทุกคนสร้างได้เอง
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการทำคลิปให้ความรู้ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ
“หมอมีความคิดอยากทำคลิปอธิบายความรู้เรื่องการแพทย์และการดูแลตัวเองแบบเข้าใจง่ายมานานแล้ว แต่ไม่ได้ลงมือทำสักที เพราะการเป็นหมอผ่าตัดทำให้เจอแต่คนไข้อาการหนัก ใครเป็นมะเร็งตรงไหน หมอก็ตัดส่วนนั้นทิ้งไป ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ”
“อย่างคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ ระยะเวลาการดำเนินของโรคใช้เวลา 10 ปี กว่าจะแสดงอาการออกมาให้รู้ เช่น น้ำหนักลงเยอะ ถ่ายเป็นเลือด แต่ในช่วง 10 ปีนี้ คนไข้มักจะทำพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำ ๆ เช่น สูบบุหรี่ กินอาหารก่อมะเร็ง พวกอาหารแปรรูป ลูกชิ้น ไส้กรอก หมอเคยถามคนไข้ เขาไม่รู้เหรอว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ดีต่อสุขภาพ คำตอบที่ได้เหมือนกันหมด คือ เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งไหนดีต่อสุขภาพ สิ่งไหนทำลายสุขภาพ เพราะไม่มีความรู้ ถ้ารู้ก่อนก็จะไม่ทำและระวังมากขึ้น”
“จนช่วงโควิด-19 ระบาด เวรผ่าตัดของหมอมีการเปลี่ยนไป มีเวลาว่างมากขึ้น เพราะได้ผ่าตัดแต่คนไข้ฉุกเฉินเท่านั้น เวลาว่างที่ไม่ได้ทำอะไร หมอจะไถหน้าจอมือถือดูโน่นนี่ไปเรื่อยจนเจอคลิปสั้นที่มีคนเต้นตามจังหวะดนตรี เลยได้ไอเดียทำ คลิปบอกสัญญาณอันตรายมะเร็งลำไส้ หมอใช้ดนตรีเดียวกัน แต่เปลี่ยนจากการเต้นเป็นชี้บอกอาการตามจังหวะแทน ตั้งใจทำไปโดยไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าผ่านไปแค่คืนเดียวคนเข้ามาดูคลิป 800,000 วิว มีคนกดติดตามเพิ่มขึ้นมา 30,000 คน ตอนนั้นงง (หัวเราะ) แต่พอมีคนสนใจเข้ามาคอมเมนต์ถามปัญหาสุขภาพ ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้หมอทำคลิปความรู้ใหม่ ๆ เรื่อยมาจนถึงตอนนี้”
อะไรคือสิ่งสำคัญที่คุณหมอได้รับกลับ จากความตั้งใจทำคลิปให้ความรู้เรื่องวิธีดูแลสุขภาพ
“เหตุผลเดียวเลยที่ทำให้หมอยังทำคลิปความรู้ คือ ความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มีประโยชน์กับคนอื่น”
“หมอมีความสุขทุกครั้งที่เห็นคนนำความรู้ที่บอกไปใช้จริง ๆ ถามว่ารู้ได้ยังไง เพราะจะมีคนมาคอมเมนต์บอกผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ตรงกับความตั้งใจของหมอด้วยว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น อยากให้คนเอาความรู้ไปดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด พอได้เห็นคนสุขภาพดีขึ้น หมอเองก็มีความสุขไปกับเขาด้วย ถือว่าสิ่งที่ทำอยู่ประสบความสำเร็จแล้ว”
เหมือนคุณหมอกำลังจะบอกกับทุกคนว่า ‘สุขภาพดีเริ่มได้ที่ตัวเรา’ และ ‘สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง’
“ใช่เลยค่ะ เพราะคนเราจะมีสุขภาพที่ดีได้ ต้องเริ่มจากเห็นความสำคัญของสุขภาพก่อน และต้องมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง ซึ่งสองข้อนี้ใช้เงินซื้อไม่ได้ ถ้าอยากเป็นเจ้าของสุขภาพที่ดีต้องลงมือทำและใช้ความพยายามด้วยตัวเองเท่านั้น”
จริงหรือไม่ที่ว่า สุขภาพดีเริ่มที่อาหาร
“You are what you eat. เป็นประโยคที่ใช้ได้จริงเสมอ ถ้าเรากินอาหารไม่ดี หมายถึงอาหารที่ก่อการอักเสบ ระบบทางเดินอาหารและลำไส้ของเราก็จะรับเอาสิ่งไม่ดีเหล่านั้นเข้ามาไว้ในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคมะเร็ง เรียกโรคเหล่านี้รวมกันว่า NCDs หรือ Non-Communicable Diseases คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แพร่ไปสู่ผู้อื่นไม่ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม กลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องรักษาและกินยาไปตลอดชีวิต”
“แต่ถ้าเราเลือกอาหารดีเข้าสู่ร่างกาย ให้มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และมีสัดส่วนของสารอาหารที่เหมาะสม แบ่งเป็นสารอาหารหลัก คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสารอาหารรอง คือ วิตามิน เกลือแร่ แล้วก็ต้องเลือกอาหารที่มีใยอาหาร มีโพรไบโอติกส์ และดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้ไปได้เยอะ แถมเพิ่มจุลินทรีย์ดีในลำไส้ทำให้ร่างกายทำงานได้เต็มที่ เพราะสารอาหารและน้ำเป็นสารตั้งต้นของเอนไซม์ โปรตีน และฮอร์โมนส์ที่จำเป็นกับร่างกาย ไม่ต่างกับรถที่ได้รับน้ำมันที่ดี ก็วิ่งได้ไหลลื่นไม่มีสะดุด”
อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำข้อควรรู้เกี่ยวกับไฟเบอร์และโพรไบโอติกส์เพิ่มเติม
“ไฟเบอร์ตามธรรมชาติมีอยู่ในผักและผลไม้ แต่สิ่งที่ควรรู้เพิ่มคือการเลือกไฟเบอร์ที่เป็นอาหารเสริม คือต้องไม่ผสมยาระบาย เพราะอาหารเสริมบางตัวจะผสมยาระบายกลุ่มมะขามแขก เข้าใจว่าคนซื้อใจร้อน กินแล้วอยากเห็นผลเร็วว่าขับถ่ายดี แต่การใส่ยาระบายทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะทำให้ลำไส้ไม่ยอมบีบตัว หากไม่มียาระบายมากระตุ้น อยากให้ทุกคนระวังเรื่องนี้ ก่อนเราจะกินอะไรต้องดูส่วนผสมและแหล่งที่มา”
“ไฟเบอร์กินมากไปก็ไม่ดี เพราะไฟเบอร์ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ เราย่อยไฟเบอร์ไม่ได้ สิ่งมีชีวิตที่ย่อยไฟเบอร์ได้คือวัว ระบบทางเดินอาหารของวัวผลิตเอนไซม์หรือน้ำย่อยออกมาย่อยไฟเบอร์ได้ แต่มนุษย์เราไม่มี ปริมาณไฟเบอร์ที่รับเข้ามาในร่างกายจึงต้องไม่เกิน 25-30 กรัมต่อวัน แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ถ้ากินไฟเบอร์มากเกินไปแล้วดื่มน้ำน้อย แทนที่จะถ่ายง่าย กลับกลายเป็นท้องผูกกว่าเดิม มีก๊าซในลำไส้เพิ่มขึ้น เกิดอาการท้องอืดจนร่างกายดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุชนิดอื่นได้น้อยลง”
“ส่วนโพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีมีอยู่ในอาหารหมักดองทั่วไปอยู่แล้ว ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้ได้ อย่างที่ทุกคนน่าจะกินบ่อย ๆ ก็มีโยเกิร์ต กิมจิ ผักกาดดอง นัตโตะ หรือถั่วเหลืองหมักของญี่ปุ่น ถามว่าทำไมโพรไบโอติกส์จำเป็นกับร่างกาย หมอจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่า โพรไบโอติกส์เป็นเหมือนพืชคลุมดิน หากเรากินของไม่ดีเข้าไป เป็นอาหารที่ทำให้ร่างกายอักเสบ ปกติลำไส้จะดูดซึมสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้เต็ม ๆ แต่ถ้าในลำไส้ของเรามีโพรไบโอติกส์อยู่ ก็จะทำหน้าที่เป็นด่านหน้าช่วยปกป้องลำไส้และร่างกายไม่ให้ดูดซึมสารพิษ”
How to Live a Good Life
ปรับมุมมองใหม่ เปลี่ยนชีวิต
หนทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าและมีความสุข
สำหรับคนที่ไม่เคยสนใจดูแลสุขภาพมาก่อนเลย ควรเริ่มต้นอย่างไร ให้กลับมารักตัวเองและใส่ใจกับสุขภาพ
“เราทุกคนมีเวลาจำกัด การที่มีสุขภาพดีจะช่วยยืดเวลาให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด หมอเชื่อว่าทุกคนอยากมีเวลาอยู่กับคนที่ตัวเองรักทั้งนั้น หรือเอาไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ดีไม่ได้ หากเราไม่มีสุขภาพที่ดีพอ จุดเปลี่ยนเดียวที่จะทำให้คนคนหนึ่งหันมาดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจังได้ คือ ต้องเห็นความสำคัญของสุขภาพตัวเองให้มากพอ ตรงนี้ในแต่ละคนก็จะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว ก็อยากอยู่ดูแลกันไปนาน ๆ เลยหันมาออกกำลังกาย อย่าปล่อยให้ป่วยก่อน เพราะเท่ากับว่าเราลดเวลาที่ได้ใช้ชีวิตให้น้อยลงไปอีก”
คุณหมอมีหลักคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเรื่องใดที่อยากฝากให้ทุกคนปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ชีวิตดีกว่าที่ผ่านมา
“อย่างหลายปีหลังมานี้ คนนิยมไปทําหัตถการความงามกันเยอะมาก เพราะต้องการลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ซึ่งทุกคนก็ทำออกมาสวยหล่อและดูดี แต่จะมีกี่คนที่ฉุกคิดย้อนกลับไปถึงสาเหตุจริง ๆ ได้ว่า เราดูโทรมลงเป็นเพราะอะไร ริ้วรอยตรงนี้มาจากไหน นอนน้อยหรือเปล่า จากอาหารที่กินแล้วก่อให้เกิดการอักเสบใช่ไหม เพราะคนมักจะละเลยและมองข้ามจุดสำคัญนี้ไป แล้วเลือกสนใจแต่ว่า จะฉีดอะไรที่ลดรอยได้เร็วแทน พอเราไม่เข้าใจสาเหตุ เราจะไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ยังใช้ชีวิตแบบเดิมไปเรื่อย ๆ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคแฝง โรคสะสม โรคเรื้อรังที่ร้ายแรงกว่ารอยย่นบนใบหน้า”
“เหมือนเราปลูกต้นไม้แล้วอยากให้ออกดอกออกผลสวยงาม แต่กลับใช้สารเคมีเร่ง พ่นยาไม่ให้แมลงมากัดกิน สุดท้ายได้ดอกผลสวยงามตามต้องการก็จริง แต่จะยั่งยืนกว่าไหม หากเราดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ ให้ปุ๋ยธรรมชาติที่ช่วยบำรุงดอกและผล คือดูแลรากฐานไม่ให้เจ็บป่วย และไม่เพิ่มความเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมในระยะยาว”
อะไรสิ่งสำคัญที่คุณหมอได้เรียนรู้จากคนไข้โรคมะเร็ง เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคมะเร็ง
“ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า มะเร็งยังเป็นโรคที่ยังหาทางรักษาไม่ได้ และไม่มีวิธีใดสามารถรักษาให้หายขาด ถ้าเคยเป็นแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก”
“คนไข้หลายคนที่มาหาหมอ เขามีประวัติดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีมากมาตลอดแต่กลับป่วยเป็นมะเร็ง เพราะมะเร็งเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายปัจจัยมาก ๆ อย่างคนที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ 90% หาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ รู้ตัวอีกทีก็เป็นมะเร็งแล้ว ดังนั้น แม้ว่าจะดูแลสุขภาพอย่างดี แต่โอกาสเกิดขึ้นของโรคก็ยังมีอยู่ พูดแบบนี้ คนอาจสงสัยว่า ถ้าอย่างงั้นเราจะดูแลสุขภาพไปทำไมกัน คำตอบก็คือลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่น ๆ อย่างน้อยร่างกายเราแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันดี ก็ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีกว่าคนสุขภาพไม่ดี หากเจ็บป่วยขึ้นมา ก็มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าด้วย”
สิ่งที่คุณหมออยากบอกกับคนที่ยังประวิงเวลา เพราะคิดว่ายังไม่ป่วยเลยไม่ดูแลตัวเอง
“อย่าวางใจ เพราะอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ทุกวินาที เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยตัวเองให้ไปถึงจุดที่กลับมาแก้ไขอะไรไม่ได้อีก ถ้าทุกอย่างสายเกินไป ได้แต่นึกเสียดายและเสียใจภายหลังว่าทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่ยอมดูแลสุขภาพ หมอไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใคร โดยเฉพาะคนที่อายุยังไม่มาก เดี๋ยวนี้คนอายุน้อยต่ำกว่า 60 ปี ป่วยเป็นมะเร็งจนน่าตกใจ เพราะทำพฤติกรรมเสี่ยงติดต่อกันมานาน”
“หมออยากย้ำเสมอว่า ทุกคนต้องมีความรู้สุขภาพติดตัว เพราะจะทำให้เราฉุกคิด เช็กตัวเอง และเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลโรค อีกอย่างที่คนอายุ 20 ปีขึ้นไปควรทำทุกปี คือ ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมจากการออกกำลังกายและดูแลตัวเองสม่ำเสมอ เพราะความเจ็บป่วยมันซ่อนอยู่ในร่างกาย เราไม่มีทางรู้ได้แต่เนิ่น ๆ อย่างน้อยผลการตรวจสุขภาพจะช่วยทำให้เรารู้สุขภาพของตัวเอง และได้วางแผนวิธีดูแลตัวอย่างได้ตรงจุดมากขึ้น”
‘ชีวิตที่ดี’ ในความหมายของคุณหมอเป็นอย่างไร
“ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี แต่ในฐานะหมอ ชีวิตที่ดีคือการได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะการช่วยเหลือคนอื่นทำให้เรารู้สึกว่ามีประโยชน์ มีคุณค่าในตัวเอง และมีความสุขได้ในทุกวัน”
5 Quick Tips
เคล็ด (ไม่) ลับฉบับหมอนุ้ย
เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
1. สุขภาพดีเริ่มที่ลำไส้ เลือกอาหารที่เราจะกิน ดูสัดส่วนของสารอาหารให้ครบทุกหมู่ ดูปริมาณน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงอาหารแปรรูปหรืออาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ไม่ทำพฤติกรรมทำลายสุขภาพ อย่างเช่น การสูบบุหรี่
2. นอนให้พอ ควรนอนให้ได้วันละอย่างนอน 7 ชั่วโมง สิ่งสำคัญที่คนมักมองข้ามคือสภาพแวดล้อมที่ทำให้นอนหลับได้อย่างสบาย ควรจัดสภาพแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม ถ้ายังนอนไม่หลับ แนะนำให้ตรวจโรคประจำตัวที่อาจรบกวนการนอน
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งแบบคาร์ดิโอและแบบเวทเทรนนิ่ง ออกกำลังกายให้ได้มากกว่า 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
4. ควบคุมระดับไขมันในร่างกายให้เหมาะสม ผู้ชายควรมีระดับไขมันน้อยกว่า 20% ส่วนผู้หญิงควรมีระดับไขมันน้อยกว่า 30%
5. ควบคุมความเครียด รู้จักปล่อยวางและมองโลกในด้านดี หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลายหรือเกิดสมาธิ อาจฝึกสมาธิร่วมด้วย
ช่องทางติดตามชมคลิปความรู้เพื่อการดูแลสุขภาพ
ในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของ ‘หมอนุ้ย’
Facebook : หมอนุ้ย
Youtube : Doctor Nuiz
Line Official Account : @dr.nuiz
TikTok : Doctor Nuiz
Instagrem : @dr.nuiz